"ตัวเงินตัวทอง" หรือ "ตัวเหี้ย" เป็นสัตว์เลื้อยคลานในกลุ่ม monitor lizard ด้วยรูปร่างที่แปลกประหลาดและพฤติกรรมส่วนตัวของมัน ทำให้คำว่าตัวเหี้ยกลายเป็นภาษาที่ไม่สุภาพในที่สุด ทั้งที่แท้จริงแล้ว "เหี้ย" คือชื่อที่ถูกต้อง
ในประเทศไทย เพื่อนๆ ของตัวเหี้ยยังมีอยู่อีก 3 ชนิด ตัวแรกคือ คือ ตะกวด หรือภาษาอีสานเรียกว่า "แลน" ตะกวดจะมีสีเรียบออกโทนสีน้ำตาลทั้งตัว ขณะที่ลำตัวของตัวเหี้ยเป็นสีดำมีลายดอกสีเหลืองเรียงอยู่อย่างมีระเบียบ รูปร่างส่วนใหญ่อาจจะดูคล้ายกัน แต่เมื่อสังเกตที่รูจมูกของตะกวด จะเห็นว่าอยู่ห่างจากปลายปากมาก จมูกที่ใกล้ปลายปากทำให้ตัวเหี้ยสามารถอยู่ในน้ำได้นาน เวลาที่มันดำน้ำมันไม่ต้องเสียเวลาโผล่ขึ้นมาหายใจทั้งหัว
ตัวที่สองคือ เห่าช้าง (Varanus rudicollis) และตุ๊ดตู่ (Varanus dumerilii) พบทางแถบตอนใต้ของประเทศไทยเท่านั้น เห่าช้างฟังชื่อดูคล้ายงูเห่า แต่จริงๆ แล้วเป็นกลุ่มเดียวกับตะกวดและตัวเหี้ย เกล็ดที่คอดูคล้ายๆ หนามของทุเรียน ตัวสีดำมัน มีจุดสีเหลืองบ้างประปราย ชื่อเห่าช้างได้มาจากเสียงที่ใช้ขู่ศัตรู ตุ๊ดตู่ เป็นชนิดที่เล็กที่สุดในประเทศไทย เกล็ดที่คอแบนราบมีขนาดใหญ่ เมื่อออกมาจากไข่ 1-2 สัปดาห์แรกจะมีสีสันที่หัวเป็นสีส้ม สวยงามมาก จากนั้นสีส้มนี้จะค่อยๆ จางหายไป นิสัยรักสงบ ไม่ดุร้าย
สัตว์สกุลนี้หากินแตกต่างกันตามแหล่งที่อยู่อาศัย ตัวเหี้ยจะกินทั้งซากและสัตว์เป็น ทั้งปู หอย งู หนู ไก่ นก และไข่ของสัตว์ต่างๆ รวมทั้งปลา ส่วนเห่าช้างและตุ๊ดตู่ จะกินอาหารที่มีขนาดเล็กกว่าอาหารโปรดของตัวเหี้ย ส่วนมากจะเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ห่างจากแหล่งชุมชน ขณะที่ตะกวดจะกินแมลงตามเปลือกไม้เป็นอาหาร รวมทั้งไข่ของสัตว์อื่นๆ ที่มีขนาดพอดีกับความกว้างของปาก
เมื่อถึงช่วงผสมพันธุ์ในฤดูฝน ตัวเหี้ยจะจับคู่กันโดยไม่เลือกว่าคู่จะต้องเป็นตัวเดิม บางครั้งอาจมีการต่อสู้รุนแรง โดยปกติแล้ว ไข่จะมีลักษณะรียาว บางครั้งจะสีขาวขุ่น จำนวนมากน้อยนั้นขึ้นอยู่กับขนาดและชนิดของแม่พันธุ์ ตัวเหี้ยส่วนใหญ่จะวางไข่ประมาณ 6-30 ฟองหรืออาจจะถึง 50 ฟอง ในขณะที่ตุ๊ดตู่วางไข่ครั้งละประมาณ 4-14 ฟอง ในแต่ละปีจะสามารถวางไข่ได้ 2-3 ครั้ง หรืออาจมากกว่านั้นในพื้นที่ซึ่งสภาพในฤดูแล้งและฤดูฝนไม่แตกต่างกัน ไข่จะถูกกลบเป็นเนินดินหรือรังปลวก เวลาในการฟักขึ้นกับชนิดและสภาพแวดล้อม
ผู้มีอุปการะ คุณ อ.คมศร เลาห์ประเสริฐ Thank you